พันธ์มะขาม

สามารถจำแนกมะขามออกเป็นมะขามหวานและมะขามเปรี้ยว สำหรับมะขามหวานที่พบเห็นและปรากฎอยู่ทุกวันนี้มีอยู่มากกว่า 20 พันธุ์ บางพันธุ์อาจจะมีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกัน เจ้าของมะขามจะตั้งชื่อขึ้นมาเอง โดยเอาแหล่งปลูกหรือชื่อเจ้าของนั้นตั้งเป็นชื่อพันธุ์ ดังจะเห็นได้จากมีการประกวดมะขามหวานตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบว่ามีพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ เมื่อรวบรวมแล้วศึกษาลักษณะและคุณสมบัติประจำพันธุ์แล้ว พบว่ามีพันธุ์มะขามหวานอยู่เพียงไม่กี่พันธุ์ แต่อย่างไรก็ดี พอจะอนุโลมเรียกชื่อพันธุ์ตามที่มีอยู่ดังต่อไปนี้
พันธุ์หมื่นจง อยู่ที่ อ.หลุ่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ชนะเลิศการประกวดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2513
พันธุ์สีทอง อยู่ที่ อ.หล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดที่เพชรบูรณ์ ปี 2518
พันธุ์ศรีชมพู อยู่ที่ไร่ศรีชมพู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ชนะเลิศการประกวดที่เพชรบูรณ์ ปี 2520-21
พันธุ์น้ำผึ้ง อยู่ที่ไร่คุณประจักษ์ บ้านยาวี ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ชนะการประกวดมะขามหวานของเพชรบูรณ์ ปี 2524-25
พันธุ์น้ำดุกหรือปากดุก อยู่ที่บ้านปากดุก อ.หลุ่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
พันธุ์ขันตี อยู่ที่ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
พันธุ์อินทผาลัม อยู่ที่ อ.หลุ่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
พันธุ์แจ้ห่ม (นายป๋น) อยู่ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
พันธุ์เจ้าห่ม (ครูประชาสาร) อยู่ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
พันธุ์มหาจรูญ อยู่ที่บ้านหนองตะโพน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
พันธุ์ครูอินทร์ อยู่ที่บ้านนาทราย ต.พระสาน อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
พันธุ์ไผ่ใหญ่ อยู่ที่บ้านไผ่ใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
พันธุ์พระโรจน์ อยู่ที่บ้านพระโรจน์ ต.หนองช้างใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
พันธุ์ครูบัวพันธุ์ อยู่ที่บ้านบัวเทิง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
พันธุ์ส้มป่อย อยู่ที่ อ.มุกดาหาร จ.นครพนม
พันธุ์นิ่มนวล อยู่ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
พันธุ์นาศรีนวล อยู่ที่ อ.ดอนตาล จ.นครพนม
พันธุ์นวลละออง อยู่ที่กิ่ง อ.นาหว้า จ.นครพนม

นอกจากนี้ก็ยังมีพันธุ์อื่น ๆ เช่น พันธุ์นากว้าง, กงสะเด็น, หลังแตก, เจ้าเนื้อเศรษฐกิจ (เมล็ดลีบ) เป็นต้น สำหรับมะขามเปรี้ยวยังไม่มีการจำแนกพันธุ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษจึงได้ทำการรวบรวมและศึกษาพันธุ์มะขามเปรี้ยว ตั้งแต่ปี 2526 โดยได้ตั้งหลักเกณฑ์การคัดเลือกพันธุ์มะขามเปรี้ยวไว้ดังนี้ ลักษณะทรงพุ่ม กระทัดรัด ทรงพุ่มโปร่งเป็นทรงกระบอกหรือครึ่งวงกลม ฝักใหญ่ ตรง ความยาวไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร เปลือกหนา และฝักไม่แตก เนื้อมาก มีเนื้อ 50-55 เปอร์เซ็นต์ มีเมล็ด 33.9 เปอร์เซ็นต์ เปลือกกับรก (Placenta) มี 11.1 เปอร์เซ็นต์ เนื้อมีสีอำพัน มีเปอร์เซ็นต์กรดทาร์ทาริค (Tartaric acid) สูงประมาณ 13.65-20 เปอร์เซ็นต์ การเจริญเติบโตดี ติดฝักสม่ำเสมอ

ซึ่งผลการศึกษาเมื่อมะขามเปรี้ยวอายุ 5 ปี ให้ผลผลิตเป็นปีที่ 3 พบว่าต้นแม่พันธุ์ ศก. 019 ให้ผลผลิตสูงสุดเฉลี่ย 18.74 กิโลกรัม/ต้น รองลงมาคือแม่พันธุ์ ศก.018, ศก.02 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 12.91 และ 11.64 กิโลกรัม/ต้น ตามลำดับ และคาดว่าอีกไม่นาน ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จะสามารถคัดเลือกได้มะขามเปรี้ยวพันธุ์ดีสำหรับแนะนำให้เกษตรกรปลูก และเสนอเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตรต่อไป